Self-Motivation คืออะไร? ไขความลับสู่ความสำเร็จจากตัวคุณ

เลือกอ่านตามหัวข้อ

Apatsanan Chai.
April 24, 2025

          เคยสงสัยกันหรือไม่? ว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้คนคนหนึ่งก้าวหน้าได้อยู่เสมอแม้ในวันที่ไม่มีแรงผลักดันจากคนภายนอกเลย หรือแม้แต่คุณสมบัติในประกาศรับสมัครงาน ที่หลายองค์กรกำลังตามหา ส่วนใหญ่มักระบุว่า “ต้องการคนที่มี Self-Motivation”

          แล้ว Self-Motivation คืออะไร? เราจะมาทำความรู้จักพร้อมลงลึกถึงแนวทางการพัฒนาไปพร้อมกันในบทความนี้

Self-Motivation คืออะไร?

          Self-Motivation หรือ แรงจูงใจในตนเอง คือ ความสามารถในการผลักดันตัวเองให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ โดยไม่ต้องพึ่งพาแรงกระตุ้นภายนอกอื่น ๆ อย่างเช่น สภาพแวดล้อม บรรยากาศ คำสั่ง คำชม หรือ ของรางวัลตอบแทน เป็นต้น 

          ด้วยแรงจูงใจนี้เอง ทำให้ “สิ่งที่ควรหรือคิดว่าจะทำ” แปรเปลี่ยนเป็น “สิ่งที่ต้องทำ” ก่อให้เกิดพัฒนาการและความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง และเพราะว่าแรงจูงใจนี้เกิดขึ้นจากภายในตัวเราเอง ทำให้แรงจูงใจมีความยั่งยืน เพราะตราบใดที่เรายังยึดมั่นในคุณค่าที่ต้องการ เราจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้อยู่เสมอ

แรงจูงใจ คืออะไร?

          แรงจูงใจ คือ แรงผลักดันหรือแรงขับเคลื่อนที่ทำให้คนเราเกิดพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยเราสามารถแบ่งแรงจูงใจเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ Intrinsic Motivation (แรงจูงใจภายใน) และ Extrinsic Motivation (แรงจูงใจภายนอก)

     Intrinsic Motivation (แรงจูงใจภายใน)

          แรงจูงใจภายใน คือ แรงจูงใจที่มาจากความต้องการภายในจิตใจ ไม่ว่าจะเป็น ความพึงพอใจ ความหลงใหลในสิ่งที่ทำ การเติมเต็มความต้องการ ความกระหายใคร่รู้ หรือแม้แต่เป้าหมายชีวิต รวมไปถึงความเชื่อต่าง ๆ ที่มุ่งหวังผลลัพธ์ที่ดีต่อตัวเอง

     Extrinsic Motivation (แรงจูงใจภายนอก)

          แรงจูงใจภายนอก คือ แรงจูงใจที่มาจากการกระตุ้นภายนอกที่รายล้อมรอบตัว อย่างเช่น ของรางวัล ผลตอบแทน คำชม แรงกดดันจากสังคม ชื่อเสียง การยอมรับจากผู้อื่น หรือจะเรียกได้ว่าเป็นการผูกเป้าหมายไว้กับผู้อื่น ก็ได้เช่นกัน

แรงจูงใจภายในและภายนอก ตัวอย่าง แบ่งออกเป็น Intrinsic Motivation (แรงจูงใจภายใน) และ Extrinsic Motivation (แรงจูงใจภายนอก)

ตัวอย่างของ Intrinsic Motivation

     คุณอยากเรียนรู้ทักษะใหม่เพิ่มเติม เพราะอยากเพิ่มพูนทักษะเพื่อขยายขีดความสามารถในการทำงานของตัวเอง

ตัวอย่างของ Extrinsic Motivation

     คุณอยากเรียนรู้ทักษะใหม่เพิ่มเติม เพราะบริษัทมีแคมเปญเรียนจบ 1 คอร์สลุ้นรับเงินรางวัล

          จะเห็นได้ว่า ความแตกต่างของทั้ง 2 แรงจูงใจจะอยู่ที่จุดเริ่มต้น “ว่าเรากำลังทำสิ่งนี้เพื่ออะไร” ซึ่งแรงจูงใจทั้ง 2 แบบ ไม่มีอันไหนผิดหรือถูกซะทีเดียว หากแต่ว่า แรงจูงใจที่เกิดขึ้นจากภายใน จะยั่งยืนมากกว่า เพราะต่อให้ในวันที่ไม่มีแรงกระตุ้นจากคนอื่น แต่ตัวเรายังยึดมั่นในคุณค่าผลลัพธ์ที่เราคาดหวังไว้ ก็จะส่งผลให้เราทำสิ่ง ๆ นั้นได้อย่างต่อเนื่อง 

          ทั้งนี้ Self-Motivation ที่เป็นแรงจูงใจในตัวเองนั้น ก็อาจจะเกิดขึ้นจากแรงจูงใจภายนอกได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น

     ตัวอย่างของการมี Extrinsic Motivation ร่วมกับ Intrinsic Motivation

     พนักงานบริษัทคนหนึ่งเริ่มต้นออกกำลังกายทุกวัน เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมและรับรางวัลกับทาง HR แต่ระหว่างทางเขาค้นพบความสนุกและรู้สึกดีที่ได้ออกกำลังกายทุกวัน โดยไม่คาดหวังกับรางวัลในท้ายที่สุด

          จากตัวอย่าง จะเห็นได้ว่าในช่วงแรกมีแรงกระตุ้นจากภายนอกทำให้เกิดพฤติกรรม แต่ระหว่างทางเมื่อเราเห็นคุณค่าของสิ่งที่ต้องการทำจากตัวเราเอง ก็มีแรงขับเคลื่อนเป็นความคิดและความต้องการจากภายในที่ทำให้เกิดพฤติกรรมได้อย่างต่อเนื่อง

ความสำคัญของ Self-Motivation ในปัจจุบันและอนาคต

           จากรายงาน Future of Jobs Report 2025 ของ World Economic Forum พบว่าทักษะ Motivation and Self-Awareness หรือทักษะการสร้างแรงจูงใจในตนเองและการตระหนักรู้ตนเอง เป็นหนึ่งในทักษะที่มีความสำคัญที่นายจ้างทั่วโลกมองว่าจำเป็นและสำคัญในโลกการทำงาน

          จากกราฟจะเห็นว่ามีสัดส่วนของนายจ้างที่ให้ความสำคัญกับทักษะ Self-Motivation มากถึง 52% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับทักษะอื่น ๆ มาทำความเข้าใจกันว่าทำไมทักษะนี้ถึงจำเป็นกับโลกการทำงานในปัจจุบัน

Self-Motivation เป็น Core Skill ที่นายจ้างต้องการจาก รายงาน Future of Jobs Report 2025 โดย World Economic Forum


          จากกราฟจะเห็นว่ามีสัดส่วนของนายจ้างที่ให้ความสำคัญกับทักษะ Self-Motivation มากถึง 52% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับทักษะอื่น ๆ มาทำความเข้าใจกันว่าทำไมทักษะนี้ถึงจำเป็นกับโลกการทำงานในปัจจุบัน

ทำไม Self-Motivation ถึงจำเป็นกับคนทำงานในปัจจุบัน

  • เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน (Enhanced Productivity)

พนักงานที่มีแรงจูงใจในตัวเองมักจะมีการทำงานแบบเชิงรุก และกล้าริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ พวกเขาบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้งานสำเร็จได้มากขึ้นและเร็วขึ้น

  • มุ่งมั่นสู่เป้าหมาย (Goal Achievement)

          คนที่มีแรงผลักจากภายในจะตั้งเป้าหมายในชีวิตและการทำงานไว้อย่างชัดเจน และทุ่มเทเต็มที่เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานให้เสร็จตรงเวลา หรือพิชิตเป้าหมายที่ตั้งไว้

  • ยืดหยุ่นและฟื้นตัวได้ไว (Resilience and Adaptability)

          พวกเขารับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ดี และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค มองปัญหาเป็นโอกาสในการพัฒนา ไม่ใช่กำแพงที่ขวางทาง

  • พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement)

         บุคคลที่มีแรงจูงใจในตัวเองมักแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ไม่หยุดแค่สิ่งที่รู้ แต่ต้องการพัฒนาทักษะให้ดีขึ้นตลอดเวลา ทัศนคติแบบนี้ช่วยให้ทั้งคนทำงานเก่งขึ้นและองค์กรเติบโตไปพร้อมกัน

  • ส่งผลเชิงบวกต่อทีม (Positive Influence)

          พวกเขามักจะเป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนร่วมงาน ทั้งความกระตือรือร้นและความมุ่งมั่นของเขาจะส่งต่อพลังงานบวก เพิ่มขวัญกำลังใจและประสิทธิภาพของทีม

  • ทำงานได้โดยไม่ต้องมีคนคอยกำกับ (Reduced Supervision)

          ผู้จัดการสามารถไว้วางใจได้ เพราะพนักงานที่มี Self-Motivation จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ไม่มีใครคอยกำกับดูแลโดยตรง โดยเฉพาะในยุคที่การทำงานแบบ Hybrid และ Remote Work กลายเป็นเรื่องปกติ การมีแรงผลักดันจากภายในยิ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะช่วยให้พนักงานบริหารเวลาได้ดี และสร้างผลลัพธ์ที่มีคุณภาพได้ด้วยตัวเอง

Self-Motivation ส่งผลกับ Self-Esteem

           นอกจากนี้ Self-Motivation (แรงจูงใจในตนเอง) ไม่ได้เป็นแค่ทักษะที่ช่วยให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพ หรือผลักดันให้ประสบความสำเร็จแต่เพียงเท่านั้น แต่ Self-Motivation ช่วยเสริมสร้าง Self-Esteem ได้
เพราะเมื่อเราผลักดันตัวเองให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ จะเพิ่มความภาคภูมิใจในตนเอง (Self-Esteem) ให้มากขึ้นโดยอัตโนมัติ
           เช่นเดียวกันคนที่มี Self-Esteem ที่ดีมักจะมีแนวโน้มที่กล้าท้าทายและจูงใจตัวเองได้เพิ่มมากขึ้น เพราะพวกเขามีความเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง

คุณลักษณะของคนที่มี Self-Motivation

  • รู้ความต้องการของตัวเอง

          คนที่มีแรงจูงใจในตัวเองจะมีเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้เขาสามารถคัดกรองสิ่งที่จำเป็นและไม่จำเป็นในชีวิตตัวเองได้เป็นอย่างดี และมักจะเลือกทำสิ่งที่มีความสอดคล้องกับตัวตนและเป้าหมาย และไปสู่เป้าหมายของตัวเองได้เร็วขึ้น

  • มีสมาธิและโฟกัสที่ชัดเจน

          คนที่มี Self-Motivation จะมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ทำให้รู้ว่าควรจะต้องทำอะไรในช่วงเวลาต่าง ๆ จึงมักมีความสามารถในการควบคุมโฟกัสได้ในการทำงานเป็นอย่างดี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ ทั้งนี้การฝึกเทคนิค Deep Work จะช่วยให้โฟกัสกับงานได้ดี ไม่วอกแวก

  • รู้ว่าสิ่งใดสำคัญ

          คนที่มี Self-Motivation จะเลือกทำสิ่งที่ส่งผลต่อเป้าหมายก่อน เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ การแยกแยะงานที่ "สำคัญ" และ "เร่งด่วน" ออกจากกัน จะทำให้เขาวางแผนการใช้เวลาได้ดีขึ้น รวมไปถึงการใช้ชีวิตด้วยเช่นกัน

  • ทุ่มเทเพื่อเป้าหมายที่ตั้งไว้

          คนที่มี Self-Motivation มักจะทุ่มเทเพื่อเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะพวกเขามีแรงขับเคลื่อนจากภายในที่ทำให้ไม่ต้องรอแรงกระตุ้นจากภายนอก พวกเขามองเห็น คุณค่าและความหมาย ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ จึงมีความตั้งใจแน่วแน่ในการก้าวไปข้างหน้า

Self-Motivation เป็นทักษะที่สร้างขึ้นได้หรือไม่?

         หลังจากที่คุณเข้าใจประโยชน์ของการเป็นคนที่มีแรงจูงใจในตัวเองแล้ว อาจจะเกิดคำถามกับตัวเอง ว่าคุณสามารถพัฒนาทักษะนี้ให้คุณเป็น Self Motivated Person ได้หรือไม่ คำตอบคือ “ได้” 

          การสร้างแรงจูงใจให้ตนเอง เป็นทักษะที่สามารถพัฒนาและฝึกฝนกันได้ ด้วยการฝึกฝนแนวคิดและการปรับพฤติกรรมที่เหมาะสม มาทำความรู้จักกับเทคนิคการสร้างแรงจูงใจให้ตนเองไปพร้อมกัน

เทคนิคการสร้างแรงจูงใจให้ตนเอง

  • ค้นหาเป้าหมายที่มีคุณค่า

          การค้นหาคุณค่าของเป้าหมาย เป็นหัวใจของ Self-Motivation เพราะทำให้เราเกิดแรงขับเคลื่อนจากภายในได้เป็นอย่างดี เมื่อเป้าหมายของเรามีความหมายกับชีวิตจริง ๆ จะทำให้คุณรักษาแรงจูงใจในตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อมั่นในคุณค่าของผลลัพธ์ปลายทางที่จะเกิดขึ้น

แนวทางการตั้งเป้าหมายแบบ SMART Goals
  • การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและทำได้จริง

          เมื่อมีเป้าหมายที่มีคุณค่าแล้ว ให้เรากำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อให้เรามีทิศทางและแรงจูงใจที่มั่นคงมากขึ้น นอกจากนี้การตั้งเป้าหมายแบบ SMART Goals โดยการกำหนดให้เฉพาะเจาะจง มีกรอบเวลาที่ชัดเจน จะช่วยให้เราตั้งเป้าได้มีประสิทธิภาพ

         นอกจากนี้ควรตั้งเป้าหมายให้มีความท้าทายเล็กน้อยแต่ยังทำได้จริง เพราะเมื่อเราบรรลุเป้าหมายเล็ก ๆ ที่ท้าทายไว้นั้น จะทำให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจและสร้างแรงจูงใจได้อย่างต่อเนื่อง

  • สร้างแผนการเพื่อไปถึงเป้าหมาย

          เมื่อกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว ให้แบ่งเป้าหมายนั้นออกเป็นเป้าหมายระยะสั้น พร้อมวางแผนการลงมือทำให้เข้ากับรูปแบบการใช้ชีวิตของเรา และกำหนดว่าต้องทำอะไรในแต่ละวันให้เป็นกิจวัตร จะทำให้เราไปสู่เป้าหมายได้ง่ายขึ้น 

          นอกจากนี้การจดบันทึกแผนและกิจกรรมเหล่านั้นไว้ในที่ที่มองเห็นง่าย เช่น แอปจดบันทึก โพสต์อิท หรือสมุดโน้ต จะช่วยให้คุณติดตามความคืบหน้าและเตือนตัวเองให้ลงมือทำได้อย่างต่อเนื่อง

การลงมือทำอย่างต่อเนื่อง และ Tracking ผลลัพธ์ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจ
  • ลงมือทำอย่างต่อเนื่องและติดตามผล

          เมื่อมีแผนวางไว้แล้วให้ลงมือทำอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการติดตามผลด้วยการ Reflect กับตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เราสามารถปรับเปลี่ยนแผนได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ทุกความคืบหน้าที่เกิดขึ้น จะเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจให้คุณอยากลงมือทำอย่างต่อเนื่องเพื่อไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ 

  • ท้าทายตัวเองให้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ 

          ระหว่างที่เราลงมืออย่างมุ่งมั่นเพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ อย่าลืมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ เพราะการเรียนรู้จะช่วยให้สมองเกิดการตื่นตัว นอกจากนี้การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจะช่วยในเรื่องมุมมองที่ว่า ความสามารถของเราสามารถพัฒนาตลอด เป็นอีกหนึ่งแรงขับให้เกิดแรงจูงใจได้อย่างต่อเนื่อง

ทฤษฎี Broad and Build ของ Barbara Fredrickson
  • รักษาอารมณ์ให้อยู่ในด้านบวกเสมอ

          จากทฤษฎี Broad and Build ของ Barbara Fredrickson อธิบายว่า การอยู่ในอารมณ์ด้านบวกเสมอ (Positive Emotion) ไม่ว่าจะเป็น ความสุข ความดีใจ ความตื่นเต้น ความพึงพอใจ หรือ ความภาคภูมิใจ จะช่วยขยายกรอบความคิด (Broad) ให้เรามองเห็นโอกาสและแนวทางใหม่ ๆ มากขึ้น ส่งผลให้เรารับมือกับความท้าทายและมีแนวโน้มที่จะลงมือทำมากขึ้น 

          นอกจากนี้ อารมณ์เชิงบวกยังช่วยสร้างทรัพยากรทางจิตใจ (Build) หรือทัศนคติที่ดี เช่น ความมั่นใจ ความยืดหยุ่น และความมุ่งมั่น ทำให้เราสามารถมีแรงจูงใจที่ดีและฟื้นตัวจากความล้มเหลวได้เร็ว ดังนั้นเราควรรักษาอารมณ์ให้อยู่ในเชิงบวกอยู่เสมอ ซึ่งอาจจะเริ่มจากการขอบคุณตัวเองในทุกวันที่ลงมือทำสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ได้เช่นกัน 

reward system ช่วยเพิ่ม Self-Motivation ให้บรรลุเป้าหมาย
  • สร้างระบบการให้รางวัลกับตัวเอง

          "การให้รางวัลตัวเอง" เป็นวิธีง่าย ๆ แต่ทรงพลังในการส่งเสริม Self-Motivation เพราะสมองของเราจะหลั่งโดพามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข ในขณะเดียวกันสมองเราเกิดความเชื่อมโยงระหว่างความพยายามกับรางวัล ทำให้เรามีแรงผลักดันในการลงมือทำมากขึ้น 

  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ

           "สุขภาพที่ดีคือรากฐานของแรงจูงใจ" เมื่อร่างกายแข็งแรง เราจะมีพลังที่ดี มีสมองปลอดโปร่ง และอารมณ์ดีขึ้น ส่งผลให้เราพร้อมเผชิญความท้าทายและลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

          การออกกำลังกายช่วยเพิ่มพลัง ลดความเครียด และเสริมความมั่นใจ ขณะที่การนอนหลับที่เพียงพอและอาหารที่มีประโยชน์ช่วยให้สมองทำงานได้เต็มที่ หากต้องการเพิ่มแรงจูงใจในชีวิต ลองเริ่มต้นด้วยการดูแลสุขภาพ เพราะเมื่อร่างกายพร้อม ใจเราก็พร้อมก้าวไปสู่เป้าหมาย

  • ใช้เวลาอยู่กับคนที่มี Self-Motivation เหมือนกัน

          การใช้เวลากับคนที่มี Self-Motivation จะทำให้เราได้รับพลังบวกและแรงบันดาลใจจากพวกเขา สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยคนที่มีแรงจูงใจสูงยังช่วยให้เรามีวินัยและไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ หากเราท้อ พวกเขาจะช่วยผลักดันและเตือนให้เรากลับมาโฟกัสที่เป้าหมายได้อยู่เสมอ ซึ่งเราอาจจะเริ่มต้นได้ง่าย ๆ ด้วยการเข้าร่วมกลุ่ม Community ที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่การอ่านหนังสือหรือฟังพอดแคสต์จากคนที่มีแรงจูงใจก็ช่วยได้เช่นกัน

          อ่านมาถึงตรงนี้ ก็ทำให้เราเข้าใจได้ไม่ยากเลยว่า ทำไม Self-Motivation  ถึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ใครหลายคนก้าวหน้าอยู่เสมอ และเป็นคนที่หลายองค์กรต้องการร่วมงานในยุคนี้ นอกจากนี้ Self-Motivation ยังเป็นทักษะที่สอดคล้องตามแผนการพัฒนาบุคลากรของ KMUTT ด้วยเช่นกัน 

อย่าปล่อยให้ Self-Motivation เป็นแค่แนวคิดที่ดี ร่วมเปลี่ยนแนวคิดนี้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคุณด้วยการลงมือทำ และยืนยันทักษะที่มีด้วย Micro-Credentials เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตของชีวิตและเส้นทางอาชีพของคุณ

Share

Apatsanan Chai.

SEO Specialist ที่สนุกสนานกับการเรียนรู้

บทความที่คุณอาจสนใจ

Knowledges and Trendsทำอย่างไรไม่ให้ตกงาน? 3 Checklist ช่วยให้คุณมีงานทำในอนาคต

หากคุณกำลังมองหาทางรอดในการทำงานของตนเองเพื่อไม่ต้องตกอยู่ในสภาวะตกงาน แค่ 3 Checklist ง่ายๆ มีครบ มีงานทำได้แน่ แค่ทำตามนี้ รับรองบริษัทต้องการตัวคุณ

Knowledges and TrendsMicro-Credentials คืออะไร? ตัวช่วยคนทำงานยุค Disruption

Micro-Credentials คือ หลักสูตรการเรียนรู้และรับรองระยะสั้น ช่วยให้พัฒนาทักษะทางวิชาชีพได้รวดเร็ว และเป็นกุญแจสำคัญในการลด Skill Gap ในยุค Disruption