Human Skill คืออะไร? กุญแจสำคัญให้มนุษย์ทำงานอยู่รอดในยุค AI

          ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทำให้หลายคนอาจกังวลว่า งานบางประเภทอาจถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์หรือ AI ได้ แต่จริง ๆ แล้วมนุษย์ยังมีทักษะเฉพาะที่เทคโนโลยียังไม่สามารถเลียนแบบได้ ทักษะเหล่านี้เรียกว่า "Human Skill หรือ ทักษะมนุษย์" แล้ว Human Skill คืออะไร เราจะมาทำความเข้าใจในบทความนี้กัน

เลือกอ่านเฉพาะที่สนใจได้นะ

Human Skill คืออะไร?

          Human Skill หมายถึง ทักษะความสามารถของมนุษย์ที่เทคโนโลยีหรือ AI ไม่สามารถทำได้ดีเทียบเท่ามนุษย์ ทักษะเหล่านี้ครอบคลุมด้านการคิด การสื่อสาร และการพัฒนาตนเอง ซึ่งเป็นทักษะที่เกิดจากการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ผ่านใจและสมองของมนุษย์

          การเข้ามาของ AI ไม่ได้ทำให้เกิดทักษะมนุษย์ แต่เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้มนุษย์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของทักษะที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิดเหล่านี้ เพื่อให้สามารถนำไปใช้เสริมศักยภาพในการทำงานร่วมกับผู้คนและเทคโนโลยีได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ถือเป็นจุดแข็งของมนุษย์ที่ AI ไม่สามารถทำได้

Human Skill มีอะไรบ้าง?

Human Skill มีอะไรบ้าง
แหล่งที่มา: How Can We Close the Human Skill Gap?

กลุ่ม Thinking Skills 

          Thinking Skills หรือ ทักษะการคิด เป็นความสามารถในการคิดประมวลข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินสถานการณ์หรือปัญหาต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ กลุ่มทักษะการคิดประกอบด้วยหลายทักษะดังนี้

1. การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) 

          Critical Thinking คือ ความสามารถในการตั้งคำถามกับข้อสมมุติฐานที่คิดว่าจะสามารถเป็นจริงได้ พร้อมแสดงหลักฐานที่จับต้องได้และเห็นภาพ หลีกเลี่ยงการคิดแบบมุ่งเน้นไปด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น โดยการพิจารณามุมมองที่หลากหลายจากมุมมองของผู้อื่น 

2. ความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity)

          Curiosity คือ ความปรารถนาที่จะเรียนรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเป็นพิเศษจนพัฒนาเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การสำรวจและค้นพบนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมไปถึงการเติบโตในอนาคตของแต่ละบุคคลได้

3. ความสามารถในการแก้ปัญหา (Problem-Solving Abilities)

          Problem-Solving Abilities คือ ความสามารถในการรับมือกับปัญหาต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์ โดยเริ่มจากการระบุปัญหา วิเคราะห์สาเหตุ คิดวิธีแก้ไข ประเมินทางเลือกที่ดีที่สุด แล้วนำไปใช้ ทักษะนี้จะช่วยให้เรารับมือความท้าทายในการใช้ชีวิตและการทำงานได้อย่างมั่นใจ

4. การมองในมุมของผู้อื่น (Perspective-Taking)

          Perspective-Taking คือ ความสามารถในการมองผ่านมุมมองของผู้อื่น ทักษะนี้จะช่วยให้เรามีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน นำไปสู่การสื่อสารที่ดีและการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

กลุ่ม Self Development Skills

          Self Development Skills หรือ ทักษะการพัฒนาตนเอง เป็นความสามารถที่ช่วยให้บุคคลสามารถเติบโตและพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง กลุ่มทักษะเหล่านี้มีความสำคัญในการดำเนินชีวิตและการทำงาน  กลุ่มทักษะการพัฒนาตนเองประกอบด้วยหลายทักษะดังนี้

1. แนวคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) 

          Growth Mindset คือ ความเชื่อว่าศักยภาพของบุคคลนั้น ๆ สามารถพัฒนาและเติบโตได้เสมอ ผ่านความพยายามและการฝึกฝน โดยไม่ใช่เป็นสิ่งที่กำหนดมาแต่กำเนิด คนที่มีแนวคิดแบบเติบโตจะมองว่าความท้าทายและอุปสรรคต่าง ๆ เป็นโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง

2. การตระหนักรู้ตนเอง (Self-Awareness)

          Self-Awareness คือ ความสามารถในการเข้าใจตนเองทั้งในด้านจุดแข็ง จุดอ่อน อารมณ์ความรู้สึก  และค่านิยมของตนเอง การรู้จักและเข้าใจตนเองเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาตนเองและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น

3. ความมุมานะ (Perseverance)

          Perseverance คือ ความสามารถที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้บรรลุเป้าหมาย แม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคและความยากลำบากโดยไม่ย่อท้อหรือหมดกำลังใจ และจะทำให้บุคคลมีความอดทนและพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย

4. ความคล่องตัวในการเรียนรู้ (Learning Agility)

          Learning Agility คือ ทักษะในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างคล่องตัว พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ผู้ที่มีความคล่องตัวในการเรียนรู้จะสามารถประยุกต์ใช้ความรู้และประสบการณ์เดิมเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ได้อย่างดี

กลุ่ม Interpersonal Skills

          Interpersonal Skills หรือ ทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ เป็นความสามารถในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทักษะเหล่านี้มีความสำคัญต่อการทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน กลุ่มทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ประกอบด้วยหลายทักษะดังนี้

1. ความสามารถในการเข้าใจคนอื่น (Empathy)

          Empathy คือ ความสามารถในการรับรู้และเข้าใจความรู้สึก ความคิด และสถานการณ์จากมุมมองของผู้อื่น ช่วยให้สามารถปฏิสัมพันธ์และตอบสนองต่อผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม

2. ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) 

          Emotional Intelligence คือความสามารถในการตระหนัก รับรู้ เข้าใจ และบริหารจัดการอารมณ์ของตนเองและผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นทักษะที่มีความสำคัญอย่างมากในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

3. การบริหารความขัดแย้ง (Conflict Management)

          Conflict Management คือ ความสามารถในการจัดการกับสถานการณ์ที่มีความคิดเห็นหรือผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันอย่างสร้างสรรค์ โดยใช้วิธีการที่เหมาะสมเพื่อลดหรือคลี่คลายความขัดแย้งลงได้

4. การฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening)

          Active Listening คือ ความสามารถในการรับฟังผู้อื่นอย่างตั้งใจและเปิดใจ โดยไม่ขัดจังหวะหรือสร้างอคติ เพื่อทำความเข้าใจข้อมูลและความหมายที่แท้จริงของผู้พูด นอกจากนี้ยังส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างได้อีกด้วย

5. การสื่อสารแบบวัจนภาษาและอวัจนภาษา (Verbal & Non-Verbal Communication)

          Verbal & Non-Verbal Communication คือ ความสามารถในการสื่อสารด้วยวาจาและการใช้อากัปกิริยาอื่นๆ นอกเหนือจากคำพูดร่วมด้วย เช่น ท่าทาง สีหน้า แววตา และน้ำเสียง เพื่อให้การถ่ายทอดและสื่อความหมายเป็นไปได้อย่างครบถ้วน

6. การรับฟังข้อคิดเห็น (Ability to Receive Feedback)

          Ability to Receive feedback คือ การรับฟังและยอมรับข้อคิดเห็นหรือคำติชมจากผู้อื่นอย่างเปิดใจ เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น

Human Skill และ Soft Skill คืออันเดียวกัน

          หลังจากที่คุณได้รู้แล้วว่า Human Skill มีอะไรบ้าง หลายคนคงเริ่มสงสัยแล้วว่า มันต่างยังไงกับ Soft Skill จริง ๆ แล้วมันคืออันเดียวกัน หรือ เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ทั้งสองคำนี้มีความคล้ายคลึงกันมากในแง่ของความหมาย ขอบเขต และการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงาน

          หากเราร่วมกันตระหนักถึงคุณค่าในการมอบทักษะเหล่านี้ให้กับ พนักงาน ผู้เรียน เพื่อนร่วมงาน หรือ ลูกค้า เท่ากับการทำให้พวกเขาเป็นมนุษย์ที่ดียิ่งขึ้นในยุค AI และเพื่อให้ทุกคนเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เรามีตัวอย่างการใช้ Human Soft Skill ในการทำงานในหัวข้อถัดไป 

"Are we teaching them these (human) skills that make them better at their job, with each other, and with the customers? And by the way, they're the skills they're taking home - you're making them better human beings."

- Simon Sinek Says

ตัวอย่างการใช้ Human Soft Skill ในการทำงาน 

          จากบทความในนิวยอร์กไทมส์ ได้กล่าวไว้ว่า AI อาจจะเข้ามาแทนที่บางงานของเราได้ แต่ AI ไม่สามารถแทนที่ "ความเป็นมนุษย์" ของเราได้ทั้งหมด และในขณะเดียวกันจะยังต้องการทักษะบางอย่างของมนุษย์อยู่  

          ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นอาชีพใดก็ตามทักษะมนุษย์ (Human Skill) จะช่วยให้คุณมีความสำเร็จในการทำงานและสามารถอยู่รอดได้ในสภาวะการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งแต่ละอาชีพจำเป็นต้องมี Human Skill อะไรบ้าง ขอยกตัวอย่างที่น่าสนใจมาดูกัน    

การประยุกต์ใช้ Human Soft Skill กับอาชีพ Data Scientist

          อาชีพ Data Scientist เป็นอาชีพที่ทำงานเกี่ยวกับวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจและดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ อาจจะต้องใช้ทักษะ Learning Agility ในการเรียนรู้เทคนิคการทำงานใหม่ ๆ รวมไปถึงการอัปเดตประเด็นที่เกี่ยวกับในแวดวงธุรกิจที่ทำอยู่ จะช่วยทำให้เราสามารถตีความข้อมูลต่าง ๆ ได้ตรง Insight ของธุรกิจยิ่งขึ้น 

          ในขณะเดียวกันการใช้ทักษะ Verbal & Non-Verbal Communication ก็จะช่วยให้สื่อสารข้อมูลวิเคราะห์มากับเพื่อนร่วมงานในทีมอื่น ๆ ให้เข้าใจสารที่สื่อสารไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Human Soft Skill ที่จำเป็นของอาชีพ Data Scientist

          ตัวอย่าง : เมื่อ Data Scientist วิเคราะห์ข้อมูลแล้วพบว่ายอดขายลดลงในไตรมาสที่ผ่านมา เพื่อการนำเสนอข้อมูลที่เป็นสะดวกกับทุกทีม จึงไปศึกษา Customer Insight เพิ่มเติมแล้วนำมาตีความข้อมูลต่างๆ ให้ตรง Insight ของลูกค้ามากขึ้น ในขณะเดียวกันปรับรูปแบบการสื่อสารเนื้อหาให้เป็นแบบ Data Storytelling ช่วยให้ทุกฝ่ายเข้าใจข้อมูลได้ง่ายยิ่งขึ้นและนำไปใช้ได้จริง

การประยุกต์ใช้ Human Soft Skill กับอาชีพ Biomedical Engineering

          อาชีพ Biomedical Engineering เป็นอาชีพที่ทำงานเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และเทคโนโลยีในทางการแพทย์และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

          สาขานี้ครอบคลุมงานหลายด้านจึงจำเป็นต้องใช้ทักษะ Critical Thinking ในการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีเหตุผลเพื่อการตัดสินใจ และทักษะ Perspective-Taking เพื่อเข้าใจมุมมองจากความหลากหลายในสาขาวิชาชีพ เช่น แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น เพื่อการร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Human Soft Skill ที่จำเป็นของอาชีพ Biomedical Engineering

          ตัวอย่าง : Biomedical Engineering ที่ทำงานร่วมกับทีมนักพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ในการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านม มีการประชุมร่วมกัน ได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลผลการวิจัยและอัลกอริทึมที่ใช้อยู่อย่างละเอียด พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายตั้งคำถาม แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับประสิทธิภาพและข้อจำกัดของระบบ เพื่อหาจุดบกพร่องที่อาจจะเกิดขึ้นได้และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

การประยุกต์ใช้ Human Soft Skill กับอาชีพ Product Manager 

          อาชีพ Product Manager เป็นอาชีพที่เกี่ยวกับการนำความคิดและแนวคิดใหม่ ๆ มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีคุณค่าส่งมอบให้แก่ลูกค้า โดยมุ่งเน้นการการบริหารจัดการโครงการ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด การบริหารโครงการให้สำเร็จได้นั้น สิ่งสำคัญสำหรับ Product Manager ควรเริ่มต้นด้วยการสื่อสารที่ชัดเจน ใช้คำถามเปิดกว้างเพื่อกระตุ้นการสนทนาและชี้แจงเป้าหมายของโครงการ 

          ดังนั้นทักษะ Active Listening จึงสำคัญมากในการให้คุณค่าของทุกความคิดเห็นทบทวนและสรุป เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกันก่อนสิ้นสุดการประชุม และเป็นธรรมดาของการทำงานร่วมกันของหลายทีม ซึ่งอาจมีมุมมองความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ทักษะ Conflict Management จะช่วยให้รักษาบรรยากาศทำงานที่ดีไว้ได้ และนำทีมผ่านอุปสรรคเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างแท้จริง

Human Soft Skill ที่จำเป็นของอาชีพ Product Manager

          ตัวอย่าง : Product Manager ต้องเผชิญกับความขัดแย้งที่เกิดจากการประเมินทรัพยากรที่ไม่ดีมากพอและไม่เพียงพอ รวมถึงความเสี่ยงที่อาจทำให้โครงการล่าช้ากว่ากำหนด จึงต้องแจ้งทุกฝ่ายให้ทราบถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นแต่เนิ่น ๆ และรับฟังอย่างตั้งใจ ไกล่เกลี่ยเพื่อหาทางออกที่ยอมรับได้สำหรับทุกฝ่าย พร้อมทั้งประเมินผลกระทบของความเสี่ยงและพัฒนาแผนรองต่อสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น

การประยุกต์ใช้ Human Soft Skill กับอาชีพ Graphic Designer

          อาชีพ Graphic Designer เป็นอาชีพเกี่ยวกับการสร้างผลงานที่ใช้ภาพและข้อความในการสื่อสารเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจหรือสร้างความโดดเด่นให้กับสื่อต่าง ๆ และการทำงานร่วมกับลูกค้าเพื่อเข้าใจความต้องการและความคาดหวังในสิ่งที่ได้ออกแบบ

          ดังนั้นทักษะ Ability to Receive Feedback ในการรับข้อคิดเห็นที่หลากหลายแหล่งจะช่วยให้นักออกแบบกราฟิกมองโลกได้กว้างขึ้น และทักษะ Perspective-Taking การเข้าใจมุมมองของอื่น เพื่อรับฟังความคิดเห็นจะช่วยให้ออกแบบตรงตามความต้องการและสร้างประสบการณ์ที่ดี ตอบโจทย์ และโดดเด่นในยุค AI ได้

Human Soft Skill ที่จำเป็นของอาชีพ Graphic Designer

          ตัวอย่าง :  Graphic Designer ได้รับโจทย์ออกแบบ Digital Badge เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงความสำเร็จ ของกลุ่มคนวัยทำงานที่มีประสบการณ์ในสายอาชีพแล้วมาขอรับรองความสามารถในแพลตฟอร์มที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิตชื่อว่า 4Lifelonglearning โดยเริ่มต้นด้วยการศึกษาข้อมูลพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายใช้ประโยชน์จากการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วย จากนั้นจึงนำเสนองานกับลูกค้าและรับฟังทุกข้อคิดเห็น ด้วยการผสมผสานทุกข้อคิดเห็นที่ได้รับเข้ากับแนวคิดของตนเอง กลั่นกรองและปรับปรุงอย่างต่อเนื่องจนได้ผลงานที่ประสบความสำเร็จ

การประยุกต์ใช้ Human Soft Skill กับอาชีพครูและอาจารย์ 

          ในยุคที่ความรู้มากมายสามารถเข้าถึงได้บนโลกออนไลน์ บทบาทของครูและอาจารย์เปลี่ยนไปจากการถ่ายทอดความรู้เป็นการแนะนำและสนับสนุนให้ผู้เรียนเรียนรู้และค้นคว้าเองได้เอง

          ทักษะ Empathy การเข้าใจผู้อื่น และทักษะ Learning Agility ความคล่องตัวในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ โดยการสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและปลอดภัย เพื่อให้ผู้เรียนกล้าแสดงความคิดเห็นและซักถามข้อสงสัยได้อย่างเต็มที่ พร้อมช่วยเหลือผู้เรียนเพื่อวางแผนการเรียนรู้ที่เหมาะสมและการพัฒนาจุดแข็งของผู้เรียน ส่งผลให้พวกเขาประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น

Human Soft Skill ที่จำเป็นของอาชีพครูและอาจารย์

           ตัวอย่าง :  การปลูกฝัง Human Soft Skill  ที่สำคัญให้กับผู้เรียน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานในอนาคตจึงเป็นบทบาทสำคัญของครูและอาจารย์ในปัจจุบัน โดยจะต้องออกแบบกิจกรรมผ่านการทำงานเป็นกลุ่ม การระดมสมอง การแก้ปัญหาสถานการณ์จำลอง และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนเชิงลึก เพื่อเตรียมพร้อมให้ผู้เรียนมีสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตและการทำงานในโลกยุคใหม่

          แล้วทำไม Human Soft Skill จึงมีความสำคัญในยุคปัจจุบัน เรามาเข้าใจและหาคำตอบกัน

ความสำคัญของ Human Soft Skill ในยุค AI ?

          จริง ๆ แล้วทุกครั้งที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม จะมีทักษะการทำงานหรือ Hard Skill ที่หมดอายุและแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่อยู่เสมอ สิ่งที่ทำให้มนุษย์เราอยู่รอดมาได้ในทุกยุคคือ การเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็คืออีกหนึ่งทักษะที่สำคัญของ Human Soft Skill ที่เราพูดไปแล้วข้างต้น

“Hard Skills are Temporary Skills but Human Soft Skills are Permanent Skills”

           หรือจะเรียกได้ว่า Human Soft Skill เป็นทักษะที่มีความยืดหยุ่นและคงทน และเป็นทักษะสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์สามารถปรับตัวและประสบความสำเร็จ แม้จะเกิดการเปลี่ยนผ่านของยุคอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยีมากี่ครั้งก็ตาม

เทคนิคการพัฒนา Human Skill ในยุค AI

          ถ้าคุณอ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะมีคำถามว่า "ถ้าฉันอยากมีทักษะมนุษย์จะต้องทำยังไงบ้าง?" จริง ๆ แล้วทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันทั่วไปของเรา แต่จะพัฒนาและขัดเกลาทักษะอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่างหากคือสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ

          ดังนั้น 4LifelongLearning เลยรวบรวมเทคนิคง่าย ๆ ที่จะช่วยพัฒนา Human Skill ที่คุณมีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ดังนี้

เปิดโอกาสให้สะท้อนความเห็น

          ลองเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหลังการทำงานเสมอๆ เพื่อเป็นพื้นที่ให้เราได้ทำความเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อน และสิ่งที่ต้องปรับปรุงในการทำงาน พร้อมนำความคิดเห็นเหล่านั้นไปพัฒนาและต่อยอด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการหล่อหลอมทัศนคติแบบ Growth Mindset

ติดตาม Community ความรู้ที่สนใจ 

          เลือกติดตาม Community เกี่ยวกับความรู้ในสายงานที่ทำและสิ่งที่สนใจ ทางโซเชียลมีเดียที่ใช้เป็นประจำ เพื่อเปิดโอกาสให้เราได้ซึมซับเกร็ดความรู้และอัปเดตทักษะใหม่ ๆ อยู่เสมอ เป็นการส่งเสริมให้เกิด Learning Agility ได้และเป็นการนำไปสู่สังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)

เข้าร่วม Event กิจกรรมต่าง ๆ 

          การพาตัวเองออกไปเข้าร่วมกิจกรรมที่นอกเหนือจากการทำงาน เป็นการเปิดโอกาสให้ได้พบปะผู้คน จากวงสังคมใหม่ ๆ จะช่วยทำให้เราได้เรียนรู้ความเห็นจากมุมมองที่หลากหลายและเพิ่มประสบการณ์มากยิ่งขึ้น

          หากคุณเคยกังวลถึงการถูก AI แทนที่ในตำแหน่งงาน เราอาจจะต้องลองมองมุมใหม่ ว่าเราควรใช้งาน AI ทำงานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แล้วลองเพิ่มน้ำหนักกับการสื่อสารระหว่างเพื่อนมนุษย์ การตีความ การตัดสินใจจากบริบทต่างๆ อย่างลึกซึ้ง ซึ่งนั่นก็คือ Human Skill ที่จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์เราอยู่รอดในยุค AI 

         ในขณะเดียวกันเราก็ต้องพัฒนา Hard Skill ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้พร้อมรับมือตลาดงานที่จะยิ่งมีความผันแปรมากขึ้น ซึ่ง Micro-Credential อาจเป็นตัวเลือกสำคัญ ที่จะเป็นตัวแทนแสดงความสามารถที่คุณมีจากการทำงานจริงที่มีความน่าเชื่อถือจากการรับรองโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

Key Take away
  1. Human Skill คือ ทักษะความเป็นมนุษย์ที่เกิดจากการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ด้วยใจและสมองของมนุษย์เรา 
  2. Human Skill แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มทักษะสำคัญ เช่น กลุ่มทักษะการคิด  กลุ่มทักษะการพัฒนาตนเอง และกลุ่มทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ 
  3. Human Skill และ Soft Skill คือสิ่งเดียวกัน และทักษะที่ช่วยให้เราสามารถปรับตัวและประสบความสำเร็จในทุกยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
  4. ก้าวแรกของการพัฒนา Human Skill ด้วย 3 เทคนิคในยุค AI ได้แก่ เปิดใจรับฟังความคิดเห็น ติดตาม Community ความรู้ที่สนใจ และเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ

อ้างอิงเนื้อหา

Content Update: 5 June 2024

Tags

Share

บทความที่คุณอาจสนใจ

Work tipsLifelong Learning คือ?​ ทำไมคนเราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต?

Lifelong Learning คือ ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในโลกที่ผันผวน แล้วจะมีเทคนิคการเรียนรู้อะไรบ้าง? ค้นพบคำตอบในบทความนี้

Work tipsส่องอาชีพที่ AI ทำแทนไม่ได้ พร้อมแนวทางรับมือให้เป็นคนที่ใช่

อาชีพใดบ้างที่ AI ทำแทนไม่ได้ และอาชีพไหนที่ต้องรีบพัฒนาตนเองก่อน AI เข้ามาแทนที่มนุษย์ มาหาคำตอบพร้อมแนวทางการรับมือในบทความนี้กัน

Work tips5 เคล็ดลับสร้างการทำงานที่มีประสิทธิภาพได้ผลงานดีเกินคาดแน่นอน

การทำงานที่ดี ไม่ได้เกิดจากการที่คุณต้องหักโหมทำงานหนัก หรือเพิ่มปริมาณงานให้มากขึ้น คำตอบที่จะบอกว่าคุณมีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีอยู่ในบทความนี้ อ่านเลย