ในปัจจุบันโลกเรามีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วและซับซ้อนมากขึ้น เทคโนโลยีและวิวัฒนาการของ AI ที่ก้าวหน้าไม่เพียงแต่เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของเรา แต่ยังเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของเรา จนอาจทำให้หลายคนเกิดความกังวลเกี่ยวกับอนาคตการทำงาน
แล้วเคยสงสัยกันไหมว่าอาชีพในอนาคต 2030 จะเป็นงานแบบไหน? ไม่ว่าจะกำลังเริ่มต้นในโลกการทำงาน หรือกำลังมองหาโอกาสในการเปลี่ยนสายงาน บทความนี้จะพาไปสำรวจ 10 อาชีพมาแรงในอนาคต 2030 พร้อมแนะนำทักษะที่เป็นประโยชน์ ที่ให้คุณพร้อมเริ่มต้นพัฒนาตั้งแต่วันนี้ เพื่อการวางแผนอนาคตอย่างมั่นใจ!
เลือกอ่านส่วนที่สนใจ กลุ่มอาชีพเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Jobs) กลุ่มอาชีพการแพทย์และบริการสุขภาพ (Medical and Healthcare Jobs) กลุ่มอาชีพดิจิทัล (Digital Jobs)
รายงานความเสี่ยงของโลกกับตลาดอาชีพ ในขณะที่เทคโนโลยีกำลังก้าวหน้า โลกเรากลับกำลังเผชิญความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ผลักดัน ให้เกิดความต้องการอาชีพต่าง ๆ ในอนาคต
รูปภาพจาก World Economic Forum จากรายงาน The Global Risks Report 2024 โดย World Economic Forum คาดการณ์ว่าในช่วงปี 2024-2034 โลกเรากำลังเผชิญกับ 10 ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลัก ๆ ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น 1.ความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่จะยิ่งทวีความรุนแรง 2.เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าแต่แฝงไปด้วยภัยจากการเข้าถึงความเป็นส่วนตัวหรือความผิดพลาดที่มีความซับซ้อน และ 3.ความเสี่ยงและปัญหาจากสภาพสังคมต่าง ๆ
ความเสี่ยงเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อความต้องการตลาดอาชีพที่จะเกิดขึ้น เพราะทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต่างต้องการคนเข้ามารับมือและสร้างนวัตกรรมเพื่อรองรับอนาคต โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอาชีพหลัก ๆ คือ 1.กลุ่มอาชีพเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Jobs) 2.กลุ่มอาชีพการแพทย์และบริการสุขภาพ (Medical and Healthcare Jobs) และ 3.กลุ่มอาชีพดิจิทัล (Digital Jobs)
กลุ่มอาชีพเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Jobs) Green Jobs หรือสายงานสีเขียว คือ กลุ่มอาชีพที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นงานภาคการผลิต การสร้างสรรค์ หรือการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือการเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการจัดการของเสียและมลพิษ เพื่อลดผลกระทบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
ถึงแม้กลุ่มอาชีพนี้จะมีมานานแล้ว แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ต้นทุนวัสดุที่ลดลง และเทรนด์ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ Green Jobs เป็นอาชีพที่เป็นที่ต้องการในอนาคตมาดูกันว่าอาชีพเหล่านี้มีอะไรบ้าง!
ช่างเทคนิคพลังงานกังหันลม (Wind Technician) อาชีพช่างเทคนิคกังหันลมเป็นหนึ่งในกลุ่มอาชีพพลังงานหมุนเวียน ทำหน้าที่เกี่ยวกับ การติดตั้ง บำรุงรักษา และซ่อมแซมกังหันลม ตลอดจนตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบส่งสัญญาณไฟใต้ดิน โดยมีจุดมุ่งหมายหลักคือการสร้างพลังงานไฟฟ้าจากลม
แนวโน้มความต้องการ ในปัจจุบัน การส่งเสริมพลังงานลมในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่มีความเร็วลมค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตาม อาชีพที่เกี่ยวข้องกับพลังงานลมกำลังได้รับความต้องการสูงในต่างประเทศ เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีแนวโน้มการเติบโตถึง 68.2% ตามข้อมูลจากสถิติแรงงานของสหรัฐอเมริกา
ทักษะที่เกี่ยวข้อง ทักษะเครื่องกล (Mechanical Skill) ช่างเทคนิคพลังงานกังหันลมจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องเครื่องกลเบื้องต้น เพื่อใช้ในการบำรุงรักษา แก้ไขปัญหา และซ่อมแซมระบบไฮดรอลิก รวมไปถึงมีความเข้าใจในกลไกการทำงานของกังหันลม
ทักษะการแก้ไขปัญหา (Problem Solving) ช่างเทคนิคพลังงานลมจะต้องใช้ทักษะการแก้ไขปัญหา เพราะถ้าหากเกิดปัญหากังหันลมหยุดทำงาน หรือมีจุดขัดข้องทำให้จ่ายไฟฟ้าไม่ได้ จะต้องพร้อมรับมือและระบุสาเหตุที่เกิดขึ้นได้ เพื่อที่จะวางแผนซ่อมแซมได้ถูกจุด
ทักษะการเขียนรายงาน (Technical Writing) ช่างเทคนิคพลังงานกังหันลม จะต้องจัดทำเอกสารและส่งรายงานเกี่ยวกับผลการทดสอบ การตรวจสอบ การซ่อมแซม หรือปัญหาที่พบเจออยู่เสมอ ดังนั้นการเขียนรายงานที่มีความชัดเจนและเป็นระเบียบ จะช่วยให้ผู้อื่นสามารถเข้าใจรายงานได้ และส่งต่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ช่างเทคนิคพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Technician) อาชีพช่างเทคนิคพลังงานแสงอาทิตย์หรือช่างโซลาร์เซลล์ เป็นอีกหนึ่งอาชีพอยู่ในกลุ่มพลังงานหมุนเวียน มีหน้าที่รับผิดชอบการประกอบ ติดตั้ง และบำรุงรักษาระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ตลอดจนการวิเคราะห์แนวโน้มการผลิตพลังงาน และให้คำแนะนำการปรับปรุงประสิทธิภาพกับผู้ใช้งาน
แนวโน้มความต้องการ ด้วยปัจจุบันการติดตั้งโซลาร์เซลล์มีราคาถูกลงจากเมื่อก่อนมาก เพิ่มเติมด้วยแรงสนับสนุนจากภาครัฐด้วยการปรับนโยบายต่าง ๆ ทำให้อาชีพนี้ช่างเทคนิคพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Technician) มีแนวโน้มเติบโตเป็นอย่างมากทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยคาดว่าการจ้างงานในอาชีพนี้จะเพิ่มขึ้นถึง 52% ระหว่างปี 2020 ถึง 2030 ตามข้อมูลจากสถิติแรงงานของสหรัฐอเมริกา
ทักษะที่เกี่ยวข้อง ความรู้พื้นฐานด้านไฟฟ้า (Fundamental of Electronics) ช่างโซลาร์เซลล์จะต้องมีความรู้พื้นฐานด้านไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นศัพท์เทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบไฟฟ้า กำลังไฟ แรงดันไฟ กระแสไฟ และประเภทของกระแสไฟต่าง ๆ เพื่อใช้ทำความเข้าใจในระบบการติดตั้งโซลาร์เซลล์
การออกแบบและคำนวณระบบโซลาร์เซลล์ (Solar Power System Design) ก่อนการติดตั้งแผงวงจร ช่างโซลาร์เซลล์จะต้องทำการศึกษาและประเมินพื้นที่หน้างาน และคำนวณโครงสร้างอาคารที่มีผลต่อการรับน้ำหนักของแผงวงจร ตลอดจนค่าอื่น ๆ เพื่อนำไปวางแผนการติดตั้งและอธิบายแก่ผู้มีส่วนร่วมอื่น ๆ ได้
ทักษะการแก้ไขปัญหา (Problem Solving) ช่างโซลาร์เซลล์ต้องใช้ทักษะการแก้ไขปัญหา เพราะถ้าหากเกิดปัญหาไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ จะต้องพร้อมรับมือและระบุสาเหตุที่เกิดขึ้นเพื่อวางแผนซ่อมแซมได้ถูกจุด
ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน (Sustainability Consultant) ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน คือ ผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำแนะนำ ประเมิน วางแผน และพัฒนากลยุทธ์เพื่อผลักดันให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้าน ESG (Environment, Social, Governance) โดยมีเป้าหมายคือ สนับสนุนให้ธุรกิจและองค์กรลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง
แนวโน้มความต้องการ ความต้องการของอาชีพที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย Verdantix องค์กรวิจัยนวัตกรรมระดับโลก คาดการณ์ว่าในปี 2027 อุตสาหกรรมสีเขียว จะมีมูลค่าทั่วโลกถึง 16,000 ล้านดอลลาร์ ผู้บริโภคจะยิ่งตระหนักและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นการมีที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน จะช่วยให้องค์กรสามารถปรับกลยุทธ์ได้ทันท่วงทีและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร
ทักษะที่เกี่ยวข้อง ทักษะการแก้ไขปัญหา (Problem Solving) ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน อาจจะต้องเผชิญกับปัญหารอบด้านในการวางแผนกลยุทธ์ต่าง ๆ ดังนั้นทักษะการแก้ไขปัญหา จึงเป็นอีกทักษะสำคัญ ที่จะช่วยระบุปัญหาและจัดการปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทักษะการโน้มนาวและจูงใจ (Influencing Skill) การมีทักษะการโน้มน้าวและจูงใจที่ดี จะช่วยให้ผู้มีส่วนร่วม เข้าใจถึงความสำคัญของความยั่งยืน และให้ความร่วมมือในการกระบวนการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี
ทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking) ทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์ จะเป็นอีกเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน สามารถมองเห็นภาพรวมสิ่งต่าง ๆ และเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายธุรกิจและเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้สามารถวางแผนการปรับปรุงและพัฒนากลยุทธ์ได้ในระยะยาว
กลุ่มอาชีพการแพทย์และบริการสุขภาพ (Medical and Healthcare Jobs) อุตสาหกรรม Healthcare มีแนวโน้มจะเติบโตในระยะยาว ด้วยกลุ่มประชากรในหลายประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ที่มาพร้อมกับปัญหาอัตราการเกิดที่น้อยลง ผู้คนจะยิ่งให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น เพื่อยืดอายุและลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ นอกจากนั้นยังมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวกระตุ้น ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพและการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน
จากแนวโน้มนี้ทำให้เกิดความต้องการจ้างงานด้านสุขภาพที่สูงขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ
พยาบาลเวชปฏิบัติ (Nurse Practitioner) พยาบาลเวชปฏิบัติ มีหน้าที่ให้บริการด้านสุขภาพ ครอบคลุมไปถึงการดูแลและการจัดการขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ตลอดจนสามารถประเมินสุขภาพของผู้ที่มารับบริการ เพื่อการตัดสินใจและการวินิจฉัยแยกโรคเบื้องต้นภายใต้ขอบเขตที่แพทย์กำหนดได้
แนวโน้มความต้องการ พยาบาลเวชปฏิบัติได้รับความนิยมเนื่องจากความสามารถในการให้บริการสุขภาพที่ครอบคลุมและตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุและการป้องกันโรค ทำให้บทบาทนี้มีความสำคัญและเติบโตต่อเนื่องในอนาคต เช่นนั้นกลุ่มงานพยาบาลจึงได้รับความสนใจมากขึ้นถึง 52.2% ตามข้อมูลจากสถิติแรงงานของสหรัฐอเมริกา
ทักษะที่เกี่ยวข้อง การประกอบอาชีพพยาบาลนั้นจำเป็นต้องเรียนจบระดับปริญญาตรีในสาขาพยาบาล และเรียนต่อเฉพาะทาง นอกจากนี้ยังมีทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงาน เช่น
ความรู้ในการป้องกันการติดเชื้อ (Infection Prevention and Control) เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับอาชีพพยาบาล เนื่องจากการติดเชื้อเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ และเด็ก ซึ่งมีความเสี่ยงสูง การมีความรู้และปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการติดเชื้ออย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้
หากคุณสนใจพิสูจน์ทักษะ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Micro-Credentials การป้องกันการติดเชื้อสำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
ทักษะการสื่อสาร (Communication Skill) ทักษะการสื่อสารเป็นหัวใจสำคัญของงานพยาบาล โดยเฉพาะในการอธิบายแผนการบำบัดหรือการดูแลสุขภาพให้ผู้ป่วยและครอบครัวเข้าใจอย่างชัดเจน ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจในกระบวนการรักษา ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความร่วมมือของผู้ป่วยและการฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประสานงานกับทีมอื่น ๆ
ทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving) ทักษะการแก้ปัญหาเป็นทักษะที่ช่วยให้พยาบาลสามารถจัดการสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมืออาชีพ ลดความเสี่ยง เพิ่มความปลอดภัย และส่งเสริมการฟื้นตัวของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกสถานการณ์
นักกายภาพบำบัด (Physical Therapist) นักกายภาพบำบัด คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย โดยใช้เทคนิคทางกายภาพ เช่น การออกกำลังกายและการบำบัดด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีบทบาทสำคัญในการช่วยลดอาการปวด เพิ่มความคล่องตัว และฟื้นฟูสุขภาพร่างกายให้กลับมาแข็งแรง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในระยะยาว
แนวโน้มความต้องการ อาชีพนักกายภาพบำบัดมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประชากรโลกและในประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การฟื้นฟูสุขภาพร่างกายจึงมีความสำคัญมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้คนยังให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและการป้องกันโรค เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต การทำกายภาพบำบัดจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพและลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพในระยะยาว
ทักษะที่เกี่ยวข้อง ทักษะการสื่อสาร (Communication Skill) ทักษะการสื่อสาร มีความสำคัญสำหรับนักกายภาพบำบัด เพราะช่วยให้การอธิบายแผนการบำบัด วิธีการฟื้นฟูสมรรถภาพ และขั้นตอนการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยเป็นไปอย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพยังช่วยให้นักกายภาพบำบัดเข้าใจความต้องการและอาการของผู้ป่วยได้ลึกซึ้งมากขึ้น ส่งผลต่อการวางแผนการบำบัดที่ตรงจุดและเหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้
ทักษะการโน้มน้าวและจูงใจ (Influencing Skill) การมีทักษะการโน้มน้าวและจูงใจที่ดี จะช่วยให้ผู้ป่วยเห็นความสำคัญของการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางส่วน ที่ส่งผลให้การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพในระยะยาว
ทักษะการใส่ใจในรายละเอียด (Detail-Oriented Skill) นักกายภาพบำบัดจะต้องทำการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาของผู้ป่วย จำเป็นต้องมีความละเอียดรอบคอบในการบันทึกข้อมูล เพื่อต่อยอดการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผู้ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยตามบ้าน (Nursing Home) ผู้ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยตามบ้าน จะทำหน้าที่ช่วยเหลือกิจวัตรประจำวันแก่ผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพ ผู้ป่วยหลังผ่าตัด หรือผู้ป่วยระยะยาว อย่างเช่น ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
แนวโน้มความต้องการ ในปัจจุบันที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว โดยกระทรวงสาธารณสุขของไทยคาดการณ์ว่าผู้สูงอายุคนไทย จะเพิ่มขึ้นปีละ 5 แสนคน ทำให้ธุรกิจสุขภาพของกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มที่ใส่ใจสุขภาพ จะมีมูลค่าประมาณ 2.99 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 7.5% ต่อปี จากตัวเลขคาดการณ์นี้ทำให้เห็นว่าการให้บริการดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทักษะที่เกี่ยวข้อง ทักษะการโน้มน้าวและจูงใจ (Influencing Skill) ทักษะการโน้มน้าวและจูงใจเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้ดูแลสามารถสร้างแรงกระตุ้นให้ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุเห็นความสำคัญของการปรับพฤติกรรม เช่น การดูแลตัวเอง การออกกำลังกาย หรือการทำตามแผนการบำบัด ซึ่งช่วยส่งเสริมให้สุขภาพดีขึ้นและฟื้นฟูได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
ทักษะการใส่ใจในรายละเอียด (Detail-Oriented Skill) การดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยตามบ้านต้องใช้ความใส่ใจในทุกรายละเอียด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดอาการแทรกซ้อนหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ผู้ดูแลต้องคำนึงถึงทุกความต้องการ ตั้งแต่การให้ยาตรงเวลา การจัดการอุปกรณ์ทางการแพทย์ และการดูแลกิจวัตรประจำวัน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีที่สุด
ความรู้การป้องกันการติดเชื้อ (Infection Prevention and Control) การติดเชื้อเป็นภัยที่ร้ายแรงสำหรับผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง ซึ่งมีความเสี่ยงสูง การมีความรู้ในการป้องกันการติดเชื้อ จะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรคและรักษาผู้ป่วยให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ
4LifelongLearning มี Micro-Credentials ที่ได้รับการออกแบบมาเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ คุณสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้ที่ Micro-Credentials การป้องกันการติดเชื้อสำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
กลุ่มอาชีพงานดิจิทัล (Digital Jobs) หลังเหตุการณ์ Covid-19 ทำให้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของเรามากกว่าที่เคย หลายบริษัทปรับตัวเป็นการทำงานทางไกล (Remote Working) ทำให้เกิดการลงทุนกับซอฟต์แวร์มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
จากปัจจัยนี้ทำให้ความต้องการแรงงานด้านเทคโนโลยีจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการคาดการณ์ของ World Economic Forum จำนวนงานดิจิทัลทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 73 ล้าน เป็น 92 ล้านงานภายในปี 2030
นักวิเคราะห์ความปลอดภัยของข้อมูล (Information Security Analyst) เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่หลายองค์กรมีความต้องการมากขึ้น นักวิเคราะห์ความปลอดภัยของข้อมูล เป็นอาชีพที่มีหน้าที่ออกแบบ วางระบบและพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลให้มีความปลอดภัย อีกทั้งต้องทำการตรวจสอบ และดูแลความเรียบร้อยของระบบข้อมูลในองค์กร เพื่อป้องกันการโจมตีและการละเมิดที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้หลากหลายมิติ
แนวโน้มความต้องการ จากการที่เทคโนโลยี AI มีการพัฒนาให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้หลายธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้เกิดข้อมูลปริมาณมหาศาลที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูลที่ตามมาได้ ส่งผลให้ความต้องการอาชีพนักวิเคราะห์ความปลอดภัยของข้อมูลจะยิ่งสูงมากขึ้น เพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่ซับซ้อน โดยมีคาดการณ์ตัวเลขเพิ่มขึ้นถึง 33.3% จากฐานข้อมูล World Economic Forum
ทักษะที่เกี่ยวข้อง ทักษะการวิเคราะห์ความเสี่ยง (Risk Assessment and Management) นักวิเคราะห์ความปลอดภัยของข้อมูล จะต้องมีความสามารถในการระบุช่องโหว่และประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ พร้อมวางแผนกลยุทธ์ล่วงหน้าเพื่อจัดการและลดผลกระทบที่คาดการณ์ไว้ได้อย่างเป็นระบบ
ทักษะการสื่อสาร (Communication Skill) นักวิเคราะห์ความปลอดภัยของข้อมูลจะต้องทำงานและขอความร่วมมือกับทีมต่าง ๆ ทักษะการสื่อสารจึงมีความสำคัญ เพราะจะช่วยให้การอธิบายข้อมูลเชิงเทคนิคให้กับทีมบริหารหรือทีมธุรกิจสามารถเข้าใจได้แม้ไม่มีพื้นฐานมาก่อน และเป็นปัจจัยสำคัญให้สามารถบรรลุแผนงานที่วางไว้ได้
ทักษะการใส่ใจในรายละเอียด (Detail-Oriented Skill) เนื่องจากการโจมตีทางไซเบอร์อาจจะตรวจจับได้ยาก นักวิเคราะห์ความปลอดภัยจะต้องใส่ใจ รอบคอบต่อระบบ และสังเกตความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อยได้อยู่เสมอ
ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล (Data Expert) ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล เป็นกลุ่มอาชีพที่มีหน้าที่ในการจัดการข้อมูล (Data) ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น Data Scientist, Data Engineer และ Data Analyst
ทั้ง 3 อาชีพ มีการทำงานที่แตกต่างแต่เกี่ยวข้องกัน อย่างเช่น Data Scientist (นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล) ทำหน้าที่สร้าง Model โดยการนำข้อมูลขนาดใหญ่มาเป็นต้นแบบ และมองหาผลลัพธ์เชิงลึก (Insight) จากการสร้าง Model ส่วน Data Engineer (นักวิศวะข้อมูล) มีหน้าที่วางระบบการไหลของข้อมูล หรือทำให้ข้อมูลเข้าถึงได้ง่ายสำหรับคนที่จะต้องใช้งาน ในขณะที่ Data Analyst (นักวิเคราะห์ข้อมูล) จะต้องเป็นคนที่มีความเข้าใจธุรกิจมากที่สุด เพื่อใช้ในการหา Business Insight จากชุดข้อมูลที่มี
แนวโน้มความต้องการ จากการเติบโตของ AI และ Machine Learning จะยิ่งบีบบังคับให้หลายธุรกิจเข้าสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น เพื่อการแข่งขันที่เท่าเทียม ด้วยเหตุผลนี้เองทำให้เกิดข้อมูล (Data) มหาศาล และข้อมูลตรงนี้จะเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะต่อยอดเป็นโอกาสทางธุรกิจได้ ดังนั้น Data Expert จึงยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้นในอนาคต
ทักษะที่เกี่ยวข้อง การจัดระเบียบข้อมูล (Data Wrangling) ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลจะต้องมีทักษะการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่พร้อมจะนำไปวิเคราะห์หา Business Insight และเพิ่มคุณค่าของข้อมูลในมือมากยิ่งขึ้น
หากคุณสนใจพิสูจน์ทักษะ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Micro-Credential การจัดระเบียบข้อมูล (Data Wrangling)
การนำเสนอข้อมูล (Data Visualization) ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลอาจจะต้องการทักษะในการแปลงข้อมูลดิบให้เป็นภาพ ด้วยภาษาโปรแกรมมิ่ง Python ทักษะนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคที่องค์กรต้องตัดสินใจจากข้อมูล เพราะการนำเสนอข้อมูลที่ซับซ้อนในรูปแบบภาพช่วยให้ผู้บริหารและทีมเข้าใจได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น
หากคุณสนใจพิสูจน์ทักษะ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Micro-Credential Data Visualization ด้วย Python
การเรียนรู้แบบคล่องตัว (Learning Agility) เทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลที่ต้องอัปเดตทักษะและติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเครื่องมือหรือเทคนิคต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง การปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีและแนวโน้มใหม่เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในภูมิทัศน์ข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence Specialist) ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ทำหน้าที่ในการออกแบบ พัฒนา และปรับใช้ระบบ AI ให้เข้ากับธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ซอฟต์แวร์สามารถเรียนรู้ วิเคราะห์ และตัดสินใจได้ด้วยตัวเองอย่างถูกต้องและแม่นยำ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ป้อนข้อมูลใหม่ ๆ เพื่อให้ AI มีความเข้าใจสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน
แนวโน้มความต้องการ บริษัท McKinsey บริษัทที่ปรึกษาชื่อดังของโลก วิเคราะห์ไว้ว่าในปี ค.ศ.2030 กว่า 70% ของบริษัททั่วโลกจะใช้ AI ในการดำเนินธุรกิจ หลายภาคอุตสาหกรรมจึงต้องการผู้เชี่ยวชาญด้าน AI มากขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
ทักษะที่เกี่ยวข้อง การคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) ด้วยสโคปงานของผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ที่มีความซับซ้อนอย่างมาก การมีความสามารถในการแยกแยะองค์ประกอบต่าง ๆ ออกเป็นข้อย่อย จะช่วยให้เห็นรายละเอียดได้ชัดเจนและสามารถแก้ปัญหาได้ถูกจุดมากยิ่งขึ้น
การสื่อสาร (Communication Skill) เนื่องจาก AI ต้องใช้ข้อมูลในการเรียนรู้ ผู้เชี่ยวชาญ AI จึงจำเป็นต้องทำงานร่วมกันกับทีมอื่น ๆ ทักษะการสื่อสารจึงมีความสำคัญ การอธิบายข้อมูลเชิงเทคนิคให้ผู้ฟังสามารถเข้าใจได้แม้ไม่มีพื้นฐาน จะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ทำงานได้ราบรื่นขึ้น
ทักษะการใส่ใจในรายละเอียด (Detail-Oriented Skill) การเรียนรู้และการพัฒนา AI มีความซับซ้อน ทักษะการใส่ใจในรายละเอียดจึงเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพและแม่นยำ
นักพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Developer) นักพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือโปรแกรมเมอร์ที่เราคุ้นเคยกัน เป็นอาชีพที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกแบบ และวางแผนการพัฒนา บำรุงรักษา และปรับปรุงซอฟต์แวร์หรือ Digital Product ต่าง ๆ ในที่นี้สามารถเป็นได้ทั้งโปรแกรม เว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน
แนวโน้มความต้องการ การปรับตัวสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ขององค์กรต่าง ๆ และการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การทำงานแบบรีโมททางไกลมีแนวโน้มเติบโตสูง เพื่อเปิดรับตลาดแรงงานในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ในอนาคตธุรกิจด้านซอฟแวร์และอาชีพนักพัฒนาซอฟแวร์จะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น 22% จากข้อมูลสำนักงานสถิติแรงงานของสหรัฐอเมริกา
ทักษะที่เกี่ยวข้อง การสื่อสาร (Communication Skill) ทักษะการสื่อสารในการถ่ายทอดเรื่องทางเทคนิคที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่ายและเป็นลำดับขั้นตอนจะทำให้สามารถทำงานร่วมกับทีมอื่น ๆ ในการพัฒนาระบบได้อย่างราบรื่นและตรงเป้าหมายได้เร็วขึ้น
ทักษะการคิดเชิงคำนวณ (Computational Thinking) ทักษะการคิดเชิงคำนวณเป็นกระบวนการคิดพื้นฐานสำหรับการพัฒนาซอฟต์แวร์และการเขียนโปรแกรม ที่ช่วยให้สามารถแก้ปัญหา วิเคราะห์ข้อมูล ตัดสินใจ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ โดยใช้หลักการของวิทยาการคอมพิวเตอร์
หากคุณสนใจพิสูจน์ทักษะ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Micro-Credential ทักษะการคิดเชิงคำนวณ
แนวคิดของผลิตภัณฑ์ (Product Mindset) Product Mindset เป็นแนวคิดการพัฒนาโซลูชันหรือซอฟต์แวร์ให้มีคุณค่าตอบโจทย์ผู้ใช้งาน มากกว่าการทำให้เสร็จตามกำหนด (Requirement-Based Development) แนวคิดที่จะทำให้คุณเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่โดดเด่น เพราะมีทักษะในการทำความเข้าใจผู้ใช้งาน และสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจในระยะยาว
หากคุณสนใจพิสูจน์ทักษะ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Micro-Credential การสร้าง Product Mindset
โดยสรุปแล้ว 10 อาชีพมาแรงในอนาคต มีทั้งหมด 10 อาชีพด้วยกันดังนี้
ช่างเทคนิคพลังงานกังหันลม (Wind Technician) ช่างเทคนิคพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Technician) ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน (Sustainability Consultant) พยาบาลเวชปฏิบัติ (Nurse Practitioner) ผู้ช่วย/นักกายภาพบำบัด (Physical Therapist) ผู้ดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน (Homecare) นักวิเคราะห์ความปลอดภัยของข้อมูล (Information Security Analyst) ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล (Data Expert) ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence Specialist) นักพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Developer)
ทั้งนี้ความต้องการทางอาชีพมีการปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์เรา แต่ทักษะสำคัญอย่าง Lifelong Learning จะเป็นกุญแจที่จะช่วยให้เรารับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้วยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
และหากคุณกำลังมองหาเครื่องมือที่จะช่วยให้คุณพัฒนาและพิสูจน์ทักษะการทำงานให้ทันกับตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไว Micro-Credentials เป็นอีกเครื่องมือสำคัญที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะโดยไม่ใช้กรอบเวลาเป็นตัวกำหนด อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยพิสูจน์ทักษะและเป็นหลักฐานยืนยันการทำได้ให้คุณพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมั่นใจ
Content Updated: 18 Dec 2024
อ้างอิงข้อมูล
The Jobs of Tomorrow, www.weforum.org Employment to grow 7.7 percent from 2020 to 2030, www.bls.gov Data to watch in 2024, from digital jobs to climate change and health, www.weforum.org Career Map: Wind Technician, www.energy.gov พื้นฐานความรู้ที่ ช่างโซลาร์เซลล์, www.powercreation.co.th ปลดล็อกติดโซลาร์, www.tcc.or.th ข้อมูลสังคมผู้สูงอายุ, Urbancreature.co Scaling Fast: 10-Year Growth for Software Developers, www.appacademy.io Cybersecurity Analyst Career, www.wgu.edu Information Security Analyst, www.bls.gov Data Expert, www.coraline.co.th